เดือน: กันยายน 2023

พระเจ้าปกคลุมบาปของเรา

เมื่อแม่เลี้ยงเดี่ยวคนหนึ่งต้องหางานทำเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวในช่วงทศวรรษ 1950 เธอจึงตกลงรับงานพิมพ์ดีด ปัญหาเดียวที่มีคือเธอไม่ใช่คนพิมพ์ดีดเก่งและมักจะพิมพ์ผิดอยู่เสมอ เธอมองหาวิธีปกปิดข้อผิดพลาดและในที่สุดก็ได้สร้างสิ่งที่เรียกว่าลิควิดเปเปอร์ ซึ่งเป็นน้ำยาลบคำผิดสีขาวที่ใช้ทาทับเพื่อปกปิดคำที่พิมพ์ผิด เมื่อมันแห้งแล้ว คุณจะสามารถพิมพ์ทับได้ราวกับว่าไม่มีข้อผิดพลาด

พระเยซูทรงเสนอวิธีที่ทรงพลังและมีความหมายมากกว่าอย่างไม่มีที่สิ้นสุดในการจัดการกับบาปของเรา ซึ่งไม่ใช่การปกปิด แต่เป็นการให้อภัยอย่างสมบูรณ์ ตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้ปรากฏในตอนต้นของพระธรรมยอห์นบทที่ 8 ที่ผู้หญิงคนหนึ่งถูกจับฐานล่วงประเวณี (ข้อ 3-4) พวกธรรมาจารย์ต้องการให้พระเยซูทำบางอย่างกับหญิงคนนั้นและบาปของเธอ ธรรมบัญญัติกล่าวว่าเธอควรถูกหินขว้าง แต่พระคริสต์ไม่ทรงวุ่นวายอยู่กับสิ่งที่ธรรมบัญญัติกล่าวหรือไม่ได้กล่าว พระองค์ประทานคำเตือนอย่างเรียบง่ายว่าทุกคนล้วนทำบาป (ดู รม.3:23) และตรัสว่าใครก็ตามที่ไม่ได้ทำบาปก็ให้ “เอาหินขว้าง” หญิงนั้น (ยน.8:7) ไม่มีหินแม้แต่ก้อนเดียวถูกขว้างออกไป

พระเยซูทรงเสนอการเริ่มต้นใหม่ให้กับเธอ โดยตรัสว่าพระองค์ก็ไม่ทรงเอาโทษเธอและกำชับว่า “อย่าทำผิดอีก” (ข้อ 11) พระคริสต์ประทานทางออกในการยกโทษบาปของเธอ และ “พิมพ์” วิถีใหม่ในการดำเนินชีวิตลงเหนืออดีตของเธอข้อเสนอแบบเดียวกันนั้นก็ได้ทรงมอบให้กับเราด้วยโดยพระคุณของพระองค์

ทำให้ตัวเองตกที่นั่งลำบาก

ในปี 2021 วิศวกรคนหนึ่งมีความทะเยอทะยานที่จะยิงธนูให้ไกลกว่าใครๆในประวัติศาสตร์ซึ่งได้มีการบันทึกสถิติไว้ที่ 2,028 ฟุต ขณะนอนหงายบนบ่อเกลือ เขาดึงสายธนูของคันธนูที่ออกแบบเอง และพร้อมที่จะปล่อยลูกธนูไปยังจุดที่เขาหวังว่าจะเป็นระยะทางบันทึกใหม่ที่ไกลกว่า 1.6 กิโลเมตร (5,280 ฟุต) เขาสูดหายใจลึก แล้วปล่อยลูกธนูออกไป โอ๊ะ! มันไม่ได้เดินทางไปไกลเป็นกิโลเมตร อันที่จริงมันเคลื่อนที่ไปไม่ถึงฟุต มันพุ่งใส่เท้าของเขา และทำให้บาดเจ็บรุนแรง

บางครั้งเราอาจทำให้ตัวเองลำบากด้วยความทะเยอทะยานที่ผิด ยากอบและยอห์นรู้ดีถึงความหมายของความทะเยอทะยานในการแสวงหาสิ่งที่ดี แต่ด้วยเหตุผลที่ไม่ถูกต้อง พวกเขาทูลพระเยซูว่า “เมื่อพระองค์จะทรงพระสิรินั้น ขอให้ข้าพระองค์นั่งที่เบื้องขวาพระหัตถ์คนหนึ่ง เบื้องซ้ายคนหนึ่ง” (มก.10:37) พระเยซูได้ตรัสกับพวกสาวกไว้ว่าเขาจะ “ได้นั่งบนบัลลังก์สิบสองที่ พิพากษาชนอิสราเอลสิบสองเผ่า” (มธ.19:28) ฉะนั้นจึงเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมพวกเขาจึงร้องขอเช่นนี้ แล้วปัญหาคืออะไร คือพวกเขาแสวงหาอำนาจและตำแหน่งสูงส่งของตนในพระสิริของพระคริสต์อย่างเห็นแก่ตัว พระเยซูตรัสว่าความปรารถนาแรงกล้าของพวกเขาอยู่ผิดที่ (มก.10:38) และ “ถ้าผู้ใดใคร่จะได้เป็นใหญ่ในพวกท่าน ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ปรนนิบัติท่านทั้งหลาย” (ข้อ 43)

ขณะที่เรามีเป้าหมายในการทำสิ่งดีและยิ่งใหญ่เพื่อพระคริสต์ ขอให้เราแสวงหาพระปัญญาและการทรงนำจากพระองค์ ที่จะรับใช้ผู้อื่นด้วยความถ่อมใจตามที่พระองค์ได้ทรงกระทำไว้อย่างดีแล้ว

สัตย์ซื่อแต่ไม่ถูกลืม

ขณะที่ฌอนเติบโตขึ้นมานั้นเขาแทบไม่รู้ความหมายของการมีครอบครัว แม่ของเขาเสียชีวิตและพ่อแทบไม่ได้อยู่บ้าน เขามักรู้สึกโดดเดี่ยวและถูกทอดทิ้ง แต่สามีภรรยาคู่หนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ๆได้ยื่นมือเข้ามา โดยพาฌอนไปบ้านและให้ลูกๆ ของพวกเขาเป็น “พี่ชาย” และ “พี่สาว” ของฌอนซึ่งทำให้เขามั่นใจว่าเขาได้รับความรัก ทั้งยังพาเขาไปคริสตจักรที่ซึ่งเวลานี้ฌอนเป็นชายหนุ่มที่มีความมั่นใจในฐานะผู้นำเยาวชน

แม้ว่าสามีภรรยาคู่นี้จะมีบทบาทสำคัญในการพลิกชีวิตชายหนุ่มคนหนึ่ง แต่สิ่งที่พวกเขาทำเพื่อฌอนกลับไม่เป็นที่รับรู้มากนักในหมู่คนส่วนใหญ่ในครอบครัวคริสตจักรของพวกเขา แต่พระเจ้าทรงรู้ และผมเชื่อว่าวันหนึ่งพวกเขาจะได้รับบำเหน็จจากความสัตย์ซื่อนั้น เช่นเดียวกับคนเหล่านั้นที่มีรายชื่อใน “หอแห่งความเชื่อ” พระธรรมฮีบรู 11 เริ่มต้นด้วยรายชื่อบุคคลที่ยิ่งใหญ่ในพระคัมภีร์ แต่กล่าวถึงคนอื่นๆอีกนับไม่ถ้วนที่เราอาจไม่เคยรู้จัก กระนั้นพวกเขาเป็นผู้ที่ “มีชื่อเสียงดีเพราะความเชื่อของเขา” (ข้อ 39) และ “แผ่นดินโลก ผู้เขียนบันทึกว่า ไม่สมกับคนเช่นนั้นเลย” (ข้อ 38)

แม้เมื่อการกระทำด้วยความเมตตาของเราไม่มีใครสังเกตเห็น พระเจ้าทรงเห็นและทรงรู้ สิ่งที่เราทำอาจดูเหมือนเป็นสิ่งเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่เอื้อเฟื้อหรือคำพูดหนุนใจ แต่พระเจ้าทรงใช้สิ่งนั้นได้เพื่อนำเกียรติมาสู่พระนามของพระองค์ ในเวลาของพระองค์ และในวิถีทางของพระองค์ พระองค์ทรงรู้แม้ว่าคนอื่นจะไม่รู้

โครงการศิลปะบนชุดเดรสสีแดง

โครงการศิลปะบนชุดเดรสสีแดงนี้เกิดขึ้นโดย เคิร์สตี้ แมคคลาวด์ศิลปินชาวอังกฤษ และได้กลายมาเป็นงานนิทรรศการที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ทั่วโลก เป็นเวลาสิบสามปีที่ผ้าไหมสีแดงเข้มจำนวนแปดสิบสี่ผืนเดินทางไปทั่วโลกเพื่อรับการปักลวดลายจากผู้หญิงมากกว่าสามร้อยคน (และผู้ชายอีกจำนวนหนึ่ง) จากนั้นจึงนำชิ้นผ้าเหล่านี้มาทำเป็นชุดเดรสยาว ที่บอกเล่าเรื่องราวของศิลปินแต่ละคนที่มีส่วนร่วม ซึ่งหลายคนเป็นคนชายขอบและคนยากไร้

เช่นเดียวกับชุดเดรสยาวสีแดงเข้มชุดนี้ เครื่องแต่งกายที่อาโรนและลูกหลานของท่านสวมใส่นั้นก็ทำโดย “ช่างฝีมือ” จำนวนมาก (อพย.28:3) คำบัญชาของพระเจ้าเรื่องเครื่องแต่งกายของปุโรหิตซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดต่างๆที่บอกเล่าเรื่องราวที่คนอิสราเอลทุกคนมีส่วนร่วม รวมถึงการสลักชื่อชนเผ่าต่างๆบนแก้วโกเมนที่จะอยู่บนบ่าของปุโรหิต “เพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงระลึกถึงพวกเขาเสมอ” (ข้อ 12 TNCV) เสื้อคลุม รัดประคดและหมวกทำให้ปุโรหิต “สมเกียรติและงดงาม” ขณะเมื่อพวกเขาปรนนิบัติพระเจ้าและนำประชาชนในการนมัสการ (ข้อ 40)

ในฐานะผู้เชื่อพระเยซูในยุคพันธสัญญาใหม่ เราร่วมกันเป็นปุโรหิตของบรรดาผู้เชื่อ โดยรับใช้พระเจ้าและนำกันและกันในการนมัสการ (1 ปต.2:4-5, 9) โดยมีพระเยซูทรงเป็นมหาปุโรหิตของเรา (ฮบ.4:14) แม้ว่าเราจะไม่ได้สวมเครื่องแต่งกายพิเศษใดๆเพื่อบ่งบอกว่าพวกเราเป็นปุโรหิต แต่โดยความช่วยเหลือจากพระองค์ เราจึง “สวม[ตัวเรา]ด้วยใจเมตตา ใจปรานี ใจถ่อม ใจอ่อนสุภาพ ใจอดทนไว้นาน” (คส.3:12)

มีคำถามไหม

แอนกำลังพบกับศัลยแพทย์ทางช่องปากซึ่งเธอรู้จักมานานหลายปีเพื่อตรวจอาการในเบื้องต้น แพทย์ถามเธอว่า “คุณมีคำถามอะไรไหม” เธอตอบว่า “มีค่ะ อาทิตย์ที่แล้วคุณไปคริสตจักรหรือเปล่า” คำถามของเธอไม่ได้มีเจตนาจะตัดสิน แต่เพียงเพื่อจะเริ่มต้นบทสนทนาในเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ

ศัลยแพทย์ผู้นี้เติบโตมากับประสบการณ์ในคริสตจักรที่ไม่ค่อยดีนัก และเขาก็ไม่เคยกลับไปอีก เพราะคำถามของแอนและการพูดคุยกัน เขาจึงคิดทบทวนถึงบทบาทของพระเยซูและคริสตจักรในชีวิตของเขาอีกครั้ง ต่อมาเมื่อแอนมอบพระคัมภีร์ที่มีชื่อของเขาพิมพ์ไว้บนปก เขารับไว้ทั้งน้ำตา

บางครั้งเรากลัวการเผชิญหน้าหรือไม่ต้องการจะดูก้าวร้าวเกินไปในการแบ่งปันความเชื่อของเรา แต่มีวิธีที่ไม่ทำให้อึดอัดใจในการเป็นพยานเรื่องพระเยซู คือการถามคำถาม

เพราะบุรุษผู้หนึ่งซึ่งเป็นพระเจ้าและรอบรู้ทุกสิ่ง ซึ่งก็คือพระเยซูอย่างไม่ต้องสงสัยพระองค์ทรงถามคำถามมากมาย แม้ในขณะที่เราไม่รู้ถึงพระประสงค์ของพระองค์ แต่เห็นได้ชัดว่าคำถามของพระองค์กระตุ้นให้ผู้คนตอบสนอง พระองค์ตรัสถามอันดรูว์สาวกว่า “ท่านหาอะไร” (ยน.1:38) พระองค์ตรัสถามบารทิเมอัสชายตาบอดว่า “เจ้าปรารถนาจะให้เราทำอะไรให้เจ้า” (มก.10:51; ลก.18:41) พระองค์ตรัสถามชายที่เป็นอัมพาตว่า “เจ้าปรารถนาจะหายโรคหรือ” (ยน.5:6) การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับบุคคลเหล่านี้แต่ละคนเป็นการส่วนตัวหลังจากคำถามที่พระเยซูทรงเริ่มต้น

มีใครที่คุณอยากจะเข้าไปเริ่มพูดคุยเรื่องความเชื่อไหม ขอให้คุณทูลขอที่พระเจ้าจะประทานคำถามที่เหมาะสมให้กับคุณ

เป็นเหมือนพระเยซู

ในปี 2014 นักชีววิทยาจับม้าน้ำแคระสีส้มได้คู่หนึ่งในฟิลิปปินส์ พวกเขานำสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลนี้พร้อมกับส่วนหนึ่งของกัลปังหาสีส้มที่พวกเขาเรียกว่าบ้าน กลับมายังสถาบันวิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนียในซานฟรานซิสโก นักวิทยาศาสตร์ต้องการรู้ว่าม้าน้ำแคระเกิดมาโดยมีสีที่เหมือนกับพ่อแม่หรือมีสีตามสภาพแวดล้อมของมัน เมื่อลูกม้าน้ำแคระถือกำเนิดจะมีสีน้ำตาลหม่น นักวิทยาศาสตร์ก็วางกัลปังหาสีม่วงไว้ในถังกักน้ำ ลูกน้อยที่พ่อแม่เป็นสีส้มก็เปลี่ยนสีตนเองเพื่อให้เข้ากับกัลปังหาสีม่วง เนื่องจากธรรมชาติของพวกมันเปราะบาง การอยู่รอดจึงขึ้นอยู่กับความสามารถที่พระเจ้าประทานให้ในการปรับตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม

การปรับตัวให้กลมกลืนเป็นกลไกการป้องกันตัวที่มีประโยชน์ในธรรมชาติ แต่พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้ทุกคนรับความรอดและโดดเด่นอยู่ในโลกนี้ด้วยการดำเนินชีวิตของเรา อัครทูตเปาโลเรียกร้องให้ผู้เชื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้าในทุกๆ ด้านของชีวิต และนมัสการพระองค์โดยถวายตัวของเราเป็น “เครื่องบูชาที่มีชีวิต” (รม.12:1) เนื่องด้วยความอ่อนแอของเราในฐานะมนุษย์ที่รับผลจากบาป สุขภาพฝ่ายวิญญาณของเราในฐานะผู้เชื่อจึงขึ้นอยู่กับพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่จะทรง “เปลี่ยนแปลง” จิตใจของเราใหม่ และประทานกำลังแก่เราที่จะหลีกเลี่ยงการประพฤติ “ตามอย่างคนในยุคนี้” ที่ปฏิเสธพระเจ้าและยกย่องความบาป (ข้อ 2)

การปรับตัวให้กลมกลืนกับโลกหมายถึงการดำเนินชีวิตที่ตรงข้ามกับพระคัมภีร์ แต่โดยฤทธิ์เดชของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจึงมีท่าทีและสำแดงความรักได้เหมือนอย่างพระเยซู!

สารของผู้เผยพระวจนะ

ก่อนการแข่งขันเบสบอลเวิลด์ซีรี่ส์ในปี 1906 ฮิวจ์ ฟูลเลอร์ตันนักเขียนข่าวกีฬาได้พยากรณ์ไว้อย่างเฉียบคม เขาบอกว่าทีมชิคาโกคับส์ที่คาดว่าจะชนะนั้น จะแพ้ในเกมแรกและเกมที่สามและชนะในเกมที่สอง อ้อแล้วฝนจะตกในเกมที่สี่ ซึ่งเขาพูดถูกทุกประเด็น จากนั้นในปี 1919 ทักษะการวิเคราะห์ของเขาบอกว่าผู้เล่นบางคนจงใจแพ้ในการแข่งขันเวิลด์ซีรี่ส์ ฟูลเลอร์ตันสงสัยว่าพวกเขารับสินบนจากนักพนัน ความเห็นของคนส่วนใหญ่เย้ยหยันเขา แต่เป็นอีกครั้งที่เขาพูดถูก

ฟูลเลอร์ตันไม่ใช่ผู้เผยพระวจนะ เขาเป็นเพียงคนฉลาดที่ศึกษาหลักฐานข้อมูล แต่เยเรมีย์เป็นผู้เผยพระวจนะแท้ผู้ซึ่งคำพยากรณ์เป็นจริงทุกครั้ง เยเรมีย์สวมแอกที่คอของท่านเพื่อบอกคนยูดาห์ให้ยอมจำนนต่อคนบาบิโลนและมีชีวิตอยู่ (ยรม.27:2, 12) ฮานันยาห์ผู้เผยพระวจนะเท็จกล่าวแย้งท่านและหักแอกเสีย (28:2-4, 10) เยเรมีย์บอกเขาว่า “ฮานันยาห์ขอท่านฟัง พระเจ้ามิได้ทรงใช้ท่าน” และเสริมอีกว่า “ในปีเดียวนี้เองเจ้าจะต้องตาย” (ข้อ 15-16) สองเดือนต่อมา ฮานันยาห์ก็สิ้นชีวิต (ข้อ 17)

พันธสัญญาใหม่บอกเราว่า “ในโบราณกาลพระเจ้าได้ตรัส...แก่บรรพบุรุษของเราทางผู้เผยพระวจนะ...แต่ในวาระสุดท้ายนี้ พระองค์ได้ตรัสแก่เราทั้งหลายทางพระบุตร” (ฮบ.1:1-2) ความจริงของพระเจ้ายังคงสอนเราในทุกวันนี้โดยผ่านชีวิต การสิ้นพระชนม์และการเป็นขึ้นของพระเยซู ตลอดจนผ่านพระคัมภีร์และการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์

ปล่อยวาง

เจ้าของร้านหนังสือที่คีธทำงานอยู่เพิ่งจะไปพักร้อนได้เพียงสองวัน แต่คีธซึ่งเป็นผู้ช่วยของเขาก็ตื่นตระหนกเสียแล้ว งานดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่คีธวิตกว่าตนจะดูแลร้านได้ไม่ดี เขาจึงลนลานเข้าไปจัดการในรายละเอียดยิบย่อยทุกอย่างเท่าที่ทำได้

“หยุดเลย” เจ้านายบอกเขาผ่านวิดีโอคอลในที่สุด “สิ่งที่คุณต้องทำคือทำตามคำแนะนำที่ผมส่งอีเมลถึงคุณทุกวัน ไม่ต้องกังวลคีธ ภาระไม่ได้อยู่ที่คุณ แต่อยู่ที่ผม”

ในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งกับนานาประเทศ อิสราเอลได้รับถ้อยคำคล้ายคลึงกันจากพระเจ้า “จงนิ่งเสีย” (สดด.46:10) “หยุดดิ้นรน” พระองค์ตรัสใจความสำคัญว่า “จงทำตามเราที่บอก เราจะต่อสู้แทนเจ้า” อิสราเอลไม่ได้ถูกบอกให้อยู่เฉยๆ หรือพึงพอใจกับสถานการณ์ แต่ให้นิ่งสงบด้วยความตื่นตัว โดยเชื่อฟังพระเจ้าอย่างสัตย์ซื่อในขณะที่ปล่อยวางการควบคุมสถานการณ์และละผลแห่งความพยายามของพวกเขาไว้กับพระองค์

เราก็ถูกเรียกให้ทำเช่นเดียวกัน และเราทำได้เพราะพระเจ้าที่เราไว้วางใจนั้นทรงอำนาจอธิปไตยสูงสุดเหนือโลกนี้ หาก “พระองค์เปล่งพระสุรเสียง แผ่นดินโลกก็ละลายไป” และหากพระองค์ทรงให้ “สงครามสงบถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก” (ข้อ 6, 9) ได้นั้น แน่ทีเดียวเราก็สามารถวางใจในความมั่นคงปลอดภัยของพระองค์ผู้ทรงเป็นที่ลี้ภัยและเป็นกำลังของเรา (ข้อ 1) ภาระในการควบคุมชีวิตของเราไม่ได้อยู่ที่ตัวเรา แต่อยู่ที่พระเจ้า

ต้อนรับคนต่างด้าว

ในตอนที่พวกผู้หญิงและเด็กๆชาวยูเครนหลายพันคนมาถึงสถานีรถไฟกรุงเบอร์ลินเพื่อหนีภัยสงคราม พวกเขาก็ได้พบกับเรื่องน่าประหลาดใจ นั่นคือครอบครัวชาวเยอรมันถือป้ายที่ทำขึ้นเองเสนอให้ที่หลบภัยในบ้านของพวกเขา ป้ายหนึ่งเขียนว่า “พักได้สองคน!” อีกป้ายหนึ่งเขียนว่า “ห้องใหญ่[ว่าง]” เมื่อถามว่าทำไมจึงเสนอการเอื้อเฟื้อเช่นนี้กับคนแปลกหน้า สตรีคนหนึ่งบอกว่าแม่ของเธอเคยต้องการที่หลบภัยขณะหลบหนีพวกนาซี เธอจึงอยากช่วยผู้อื่นที่ต้องการความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน

ในพระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติ พระเจ้าทรงเรียกคนอิสราเอลให้ดูแลผู้คนที่อยู่ห่างไกลบ้านเกิดของตน เพราะเหตุใดน่ะหรือ เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ปกป้องลูกกำพร้า แม่ม่ายและคนต่างด้าว (10:18) และเพราะคนอิสราเอลรู้ว่าความรู้สึกอ่อนแอเช่นนี้เป็นอย่างไร “เพราะท่านทั้งหลายก็เป็นคนต่างด้าวในแผ่นดินอียิปต์” (ข้อ 19) ความเห็นอกเห็นใจคือสิ่งเร้าให้พวกเขาห่วงใย

แต่เรื่องนี้ยังมีอีกด้านหนึ่งคือ เมื่อหญิงม่ายที่เมืองศาเรฟัทต้อนรับเอลียาห์คนต่างด้าวเข้ามาในบ้านของเธอนั้น เธอคือผู้ที่ได้รับพร (1 พกษ.17:9-24) เช่นเดียวกับอับราฮัมที่ได้รับพรจากแขกต่างแดนสามคน(ปฐก.18:1-15) พระเจ้ามักจะใช้การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เพื่ออวยพรไม่เพียงแค่แขกเท่านั้นแต่เจ้าของบ้านด้วย

การต้อนรับคนแปลกหน้าเข้ามาในบ้านของคุณเป็นเรื่องยาก แต่ครอบครัวชาวเยอรมันเหล่านั้นอาจเป็นผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริง เช่นกันเมื่อเราตอบสนองคนอ่อนแอด้วยความเห็นอกเห็นใจของพระเจ้า เราอาจประหลาดใจกับของประทานที่พระองค์ประทานแก่เราผ่านคนเหล่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา